ไนท์แฟรงค์ประเทศไทยเผยผลสำรวจคอนโดมิเนียมรีเซล ยังมีอัพไซด์แม้อยู่ในวิกฤตโควิด-19

464

รายงาน

นายณัฎฐา คหาปนะ รองกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าสำนักงานไนท์แฟรงค์ ภูเก็ต บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศ ไทย จำกัด กล่าวว่า คอนโดมิเนียมรีเซลล์ถือเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดราคาตลาดคอนโดฯ ได้ดีในแต่ละช่วงเวลาและสถานการณ์ โดยมีปัจจัยประกอบที่แตกต่างกันออกไปเช่น ทำเลที่ตั้ง สภาพโครงการ แบรนด์จากผู้พัฒนาโครง การไลฟ์สไตล์ของผู้อาศัย การบริหารนิติบุคคล หรือการได้รับผลตอบแทนจากราคาค่าเช่า ซึ่งเมื่อคอนโดฯ สร้างเสร็จพร้อมเข้าอยู่จะเกิดสภาพการซื้อ-ขายที่แท้จริงจากอุปสงค์และอุปทานในตลาดบริเวณนั้น ทำให้ราคาขายแต่ละโครงการสะท้อนออกมา ตามความต้องการของผู้ซื้อและผู้ขาย

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างคอนโดฯ รีเซลใกล้สถานีรถไฟฟ้าในระยะทางไม่เกิน 300 เมตร ที่มีอายุโครงการไม่เกิน 3 ปี และขายได้แล้วเกินกว่าร้อยละ 50ในเดือนกันยายน ปี พ.ศ.2564 พบว่าคอนโดจำนวนหนึ่ง มีราคาเสนอขายในตลาดรีเซลสูงกว่าราคาซื้อตรงจากผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่อยู่ในทำเลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน อย่างบริเวณสถานีรัชดาภิเษก ราคารีเซล เสนอขายอยู่ที่ 162,000 บาทต่อตารางเมตร มีอัพไซด์ที่ร้อยละ 22สถานีบางพลัด คอนโดฯ รีเซล มีราคาเสนอขายที่ตารางเมตรละ 87,000-120,000 บาท มีอัพไซด์ที่ร้อยละ 10-22 สถานีสามย่าน แม้จะเป็นโครงการคอนโดฯ แบบ Leaseholdก็มีอัพไซด์เช่นเดียวกัน โดยมีราคารีเซลเสนอขายอยู่ที่ 149,000 บาทต่อตารางเมตร มีอัพไซด์ที่ ร้อยละ8 สถานีจรัญฯ 13มีราคารีเซลเสนอขายที่ 130,000 บาทต่อตารางเมตร มีอัพไซด์ที่ร้อยละ 19 เป็นต้น

72990

ส่วนรถไฟฟ้าสายอื่น เช่น สายสีเขียวตอนปลาย สถานีปู่เจ้าสมิงพราย มีราคารีเซลเสนอขายที่ 90,000บาทต่อตารางเมตร มีอัพไซด์ที่ร้อยละ 14 สายสีเหลือง สถานีทิพวัล มีราคารีเซลเสนอขายที่ 111,000 บาทต่อตารางเมตร มีอัพไซด์ที่ร้อยละ16สาเหตุหลักเกิดจากราคาพรีเซลล์โครงการในทำเลเหล่านี้ยังไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับทำเลสายสีเขียวย่านสุขุมวิท และห้องส่วนหนึ่งเกิดจากการทำโปรโมชั่นเร่งระบายสต๊อกเพื่อรักษากระแสเงินสดของผู้ประกอบการในช่วงวิกฤติโควิด-19ทำให้ตลาดรีเซลมีช่วงอัพไซด์ราคาอยู่พอสมควร ประกอบกับห้องที่ถูกนำมารีเซลจำนวนหนึ่งมักจะมีตำแหน่งในโครงการที่ค่อนข้างดี มีจุดขายกว่าห้องทำเลอื่นในโครงการเดียวกันเนื่องจากลูกค้าที่ซื้อในช่วงแรกมักมีโอกาสในการเลือกตำแหน่งที่ดีก่อน เป็นต้น สำหรับคอนโดฯ ระดับซุปเปอร์ลักซ์ชัวรี่ ราคาตารางเมตรละ 3 แสนบาท ขึ้นไป จะสังเกตได้ว่ามีอัพไซด์ค่อนข้างจำกัด

อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้ซื้อระดับนี้ค่อนข้างเป็นNiche Marketที่มีรสนิยมสูง ซึ่งหากมีสินค้าและบริการที่เสริฟความต้องการของคนกลุ่มนี้ได้ เชื่อมั่นว่ายังเป็นตลาดที่มีความต้องการ เพราะคนกลุ่มนี้ค่อนข้างมีฐานะมั่งคั่ง ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากภาวะวิกฤติโควิด-19

การโอนกรรมสิทธิ์ คอนโดฯ รีเซล ไตรมาส 2 ปี พ.ศ.2564 ฟื้นตัวเทียบเท่าก่อนวิกฤติในแง่มูลค่าการโอน

จากข้อมูลการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประเภทบุคคลธรรมดาในช่วงปี พ.ศ.2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 มีมูลค่าการโอนอยู่ที่ 11,136-12,210 ล้านบาท ซึ่งในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี พ.ศ.2563 มูลค่าการโอนได้ลดลงเหลือเพียง 7,576 ล้านบาท จากนั้นได้ทยอยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาถึงไตรมาสที่ 2 ปี พ.ศ.2564 อยู่ที่ 11,359 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด ส่วนในแง่จำนวนหน่วยการโอน ยังอยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัวแต่ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วคือช่วงไตรมาส 2 ปี พ.ศ.2563 การฟื้นตัวของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์นี้แสดงให้เห็นว่าตลาดคอนโดฯ รีเซล ระดับกลาง-บน มีแนวโน้มการฟื้นตัวเป็นบวก

ขณะที่คอนโดฯ รีเซลระดับราคาย่อมเยานั้นฟื้นตัวได้ช้ากว่า เนื่องจากกำลังซื้อที่อ่อนแอประกอบกับธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างเข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อ ด้วยตัวเลข NPL และ SMLที่ยังอยู่ในระดับสูงแม้ว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นก็ตาม

ตลาดคอนโดฯ มีสมดุลมากขึ้น ปี พ.ศ.2563-มิ.ย.2564  พบ 23 โครงการเปิดใหม่ที่ขายได้ดี มียอดพรีเซลล์สูงกว่า ร้อยละ 80

ในอดีตช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19ตลาดคอนโดฯ นั้นอยู่ในช่วงขาขึ้น สังเกตได้จากจำนวนอุปทานใหม่ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 56,000 หน่วย ต่อปี ขณะที่อุปสงค์เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 52,000 หน่วยต่อปี เมื่อการเร่งตัวของอุปทานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เกิดอุปทานส่วนเกินที่ต้องใช้ระยะเวลาในการขายยาวนานขึ้น และเป็นที่กังวลว่าตลาดคอนโดฯ มีความเสี่ยงที่จะโอเว่อร์ซัพพลาย จากนั้นในปี พ.ศ.2563 การเปิดโครงการใหม่ชะลอตัวลงมากเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่น่ากังวล ทำให้การเปิดคอนโดฯ ใหม่ลดลงร้อยละ 60 เหลือประมาณ 22,000 หน่วย จากในอดีตที่มีค่าเฉลี่ยการเปิดโครงการใหม่ประมาณปีละ 56,000 หน่วย

ขณะที่อุปสงค์ค่อนข้างทรงตัวหรือลดลงไม่มากนัก ส่วนหนึ่งเกิดจากการทำโปรโมชั่นของผู้ประกอบการที่ลดราคาอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้จำนวนอุปสงค์อยู่ในระดับ 50,000 หน่วยต่อปี ทำให้ปัจจุบัน ครึ่งแรกปี พ.ศ.2564 ตลาดคอนโดฯ เกิดความสมดุลมากขึ้นระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งจากการสำรวจโดยฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษาด้านการพัฒนาโครงการ ไนท์แฟรงค์ประเทศไทยพบว่าโครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดตัวใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 เป็นต้นมา ที่สามารถทำยอดพรีเซลล์ได้สูงเกินกว่าร้อยละ 80 จำนวน 6,316 หน่วย จาก 23 โครงการ จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าอุปสงค์ในตลาดคอนโดฯ เริ่มมีความเชื่อมั่นสูงขึ้นและมีความพร้อมที่จะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งเมื่อการฉีดวัคซีนทั่วถึงและสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19ได้เป็นที่น่าพอใจ

 

 

 

Leave A Reply

Your email address will not be published.